สมาชิกสภา

อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของสมาชิกสภา


           สมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) เป็นบุคคลที่ได้รับเลือกตั้งโดยตรงมาจากประชาชนในเขตเทศบาลแต่ละประเภท ได้แก่ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร  ซึ่งจะมีการแบ่งจำนวนเขตเลือกตั้งแตกต่างกันไป 2-4 เขตเลือกตั้ง ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 13 (3) ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2554[6]  เพื่อให้มาทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในเขตเทศบาล ตรวจสอบและควบคุมฝ่ายบริหารตามหลักการถ่วงดุลอำนาจในระบบรัฐสภา  ส.ท. จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง โดยมีจำนวนสมาชิกในสภาเทศบาลแต่ละประเภทแตกต่างกันไป กล่าวคือ สภาเทศบาลตำบล มีจำนวนสมาชิก 12 คน  สภาเทศบาลเมือง มีจำนวนสมาชิก 18 คน และสภาเทศบาลนคร มีจำนวนสมาชิก 24 คน ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 15 ของพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496[7] โดยแบ่งตามเกณฑ์รายได้และประชากรในพื้นที่ของเขตเทศบาล[8]

          โดยปกติสมาชิกภาพของสมาชิกสภาเทศบาลจะสิ้นสุดลงพร้อมกับอายุของสภาหรือการยุบสภา เว้นเสียแต่ว่า ส.ท. ผู้นั้นจะเสียชีวิต ลาออกจากตำแหน่ง มีผลประโยชน์ทับซ้อนในสัญญาที่เทศบาลนั้นเป็นคู่สัญญา ถูกประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งถอดถอนออกจากตำแหน่งตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เป็นต้น[9] และถ้าหากตำแหน่ง ส.ท. ว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระหรือมีการยุบสภา จะต้องมีการเลือกตั้ง ส.ท. ขึ้นมาดำรงแต่งแทนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น แต่ผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากับเวลาของผู้ที่ดำรงตำแหน่งเดิมเหลืออยู่[10]